วันอังคารที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2554

ชัยนาท 1 (Chai Nat 1)

        ข้าวพันธุ์ชัยนาท 1 เป็นพันธุ์ข้าวที่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ได้รับความนิยมจากเกษตรกรเป็นอย่างมาก เนื่องจากให้ผลผลิตสูงคุณภาพเมล็ดดี  และมีความต้านทานต่อเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล โดยใช้ปลูกทดแทนพันธุ์ข้าวสุพรรณบุรี 60 ที่ก่อนหน้านั้นเกษตรกรปลูกกันอย่างแพร่หลายในพื้นที่กว้าง และปลูกกันอย่างต่อเนื่อง จนทำให้เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลสามารถปรับตัวเข้าทำลาย และสร้างความเสียหายผลผลิตเป็นอย่างมาก

           ข้าวพันธุ์ชัยนาท 1เป็นข้าวเจ้าไม่ไวต่อช่วงแสง ปลูกได้ทั้งนาปีและนาปรัง อายุประมาณ119 วันเมื่อปลูกฤดูฝน และ 130 วันในฤดูแล้ง (ปัจจุบันประมาณ 115 วัน ) สูงประมาณ 113 ซม. มีลักษณะทรงกอตั้ง ใบสีเขียว (เขียวอ่อน) ใบธงค่อนข้างยาวตั้งตรง ใบแก่ช้า รวงยาวและแน่น คอรวงสั้น ระแง้ค่อนข้างถี่ เมล็ดยาวเรียวเปลือกเมล็ดสีฟาง ท้องไข่น้อย ระยะพักตัวของเมล็ดประมาณ 8 สัปดาห์    

ประวัติ
       ได้มาจากการผสม 3 ทางระหว่าง
ข้าวสายพันธุ์ IR13146-158-1 
กับ IR15314-43-2-3-3
และ BKN6995-16-1-1-2 
ในปี พ.ศ. 2525 ที่สถานีทดลองข้าวชัยนาท 
ปี พ.ศ. 2525 - 2529  ปลูกข้าวพันธุ์ผสมชั่วที่ 1 ถึงชั่วที่ 6  จนได้สายพันธุ์ CNTBR82075-43-2-1
ปี พ.ศ. 2530  2535 เปรียบเทียบผลผลิตภายในสถานี ระหว่างสถานี และในนาราษฎร์
ปี พ.ศ. 2535  พิจารณาเป็นสายพันธุ์ข้าวดีเด่น  และรับรองพันธุ์เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2536 โดยกรมวิชาการเกษตร และให้ชื่อว่า ข้าวเจ้าชัยนาท 1




ลักษณะเด่น
1. ตอบสนองต่อการใช้ปุ๋ยไนโตรเจนดี
2. ต้านทานเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล และเพลี้ยกระโดดหลังขาว
3. ต้านทานโรคใบหงิก และค่อนข้างต้านทานโรคไหม้
4.ให้ผลผลิตเฉลี่ยฤดูฝน 725 กก./ไร่ และฤดูแล้ง 754 กก./ไร่
5.คุณภาพการสีดี ข้าวเมื่อหุงสุกมีลักษณะร่วนแข็ง  ประเภทข้าวเสาไห้ นำไปแปรรูปเป็นเส้นก๋วยเตี๋ยว   เส้นหมี่ เส้นก๋วยจั๊บ และเส้นขนมจีนได้     

พื้นที่แนะนำ
แนะนำให้ปลูกในเขตภาคเหนือตอนล่าง และภาคกลางในพื้นที่การทำนาเขตชลประทานโดยเฉพาะในแหล่งที่มีการระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล เพลี้ยกระโดดหลังขาว โรคใบหงิก และโรคไหม้

ปัจจุบัน
ข้าวพันธุ์ชัยนาท 1 ซึ่งเคยปลูกกันอย่างต่อเนื่องเป็นพื้นที่กว้างในเขตนาชลประทาน ปัจจุบันเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลก็สามารถปรับตัวเข้าทำลายได้แล้ว (กรณีเดียวกับพันธุ์ข้าวสุพรรณบุรี 60) ทางกรมการข้าวจึงแนะนำให้หยุดปลูกพันธุ์ข้าวดังกล่าว (รวมถึงพันธุ์ข้าวปทุมธานี 1 ด้วย) เพื่อลดความเสียหาย และตัดวงจรการระบาดของเพลี้ยกระโดดสีตาล  โดยแนะนำให้เกษตรกรปลูกพันธุ์ข้าวรับรองที่ต้านทานต่อเพลี้ยกระโดดสีตาล ได้แก่ กข41 และกข47 แทน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น